สวัสดีครับวันนี้ผมจะมาพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (covid-19) กันสักหน่อย เรียกว่าเป็นเรื่องที่หลาย ๆ คนวิตกกังวลกันมาก ๆ ในตอนนี้ จะทำอะไรไปที่ไหนก็ต้องระวังป้องกันอย่างเต็มที่ หาวิธีป้องกันและสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายอยู่เสมอไม่ว่าจะเป็น ใส่หน้ากากอนามัยก่อนออกจากที่พักทุกครั้ง เว้นระยะห่างทางสังคม และที่สำคัญเลยคือเลี่ยงการสัมผัสหรือจับสิ่งของโดยไม่จำเป็น ซึ่งอันนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่เราต้องระวังกันให้มากเลยล่ะครับ
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (covid-19) นับวันยิ่งรุนแรงมากขึ้น (เมษายน 2564 – พฤษภาคม 2564) ดังนั้นการหาวิธีป้องกันนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก ซึ่งแน่นอนว่า การสัมผัสหรือจับสิ่งของ นั้นเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คน อาจจะเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะการเดินทางออกไปนอกบ้าน บางครั้งเราจำเป็นต้องหยิบจับอุปกรณ์หรือสิ่งของต่าง ๆ อาจจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แต่สิ่งที่ช่วยป้องกันสิ่งเหล่านี้เบื้องต้นได้ก็คือ หลังจากการหยิบจับ ควรล้างมือหรือฉีดแอลกอฮอล์ทุกครั้ง เพื่อทำความสะอาดหรือฆ่าเชื้อโรคที่ติดมากับสิ่งของต่าง ๆ ครับ
การหยิบจับเงินสดเสี่ยงติดเชื้อ?
อย่างที่ได้ทราบกันดีนะครับว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 นั้นสามารถติดต่อกันได้หลายวิธีไม่ว่าจะเป็น การไอจามหรือการสัมผัสร่างกาย ซึ่งเชื้อไวรัสจะปนเปื้อนมากับสารคัดหลั่ง เช่น
เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่พบว่าปนเปื้อนในสารคัดหลั่งแต่ละชนิด
น้ำมูกประมาณ 90%
น้ำลายประมาณ 80%
อุจจาระประมาณ 70%
เยื่อบุคอหอยประมาณ 60%
เลือดประมาณ 10%
น้ำตาประมาณ 1%
และที่สำคัญคือระยะเวลาของเชื้อโควิด-19 สามารถอยู่บนพื้นผิวต่าง ๆ ได้เป็นเวลานานหลายชั่วโมงอีกด้วย
ทองแดง 4 ชั่วโมง
ไม้ 6-24 ชั่วโมง
แก้ว ผ้า 24-72 ชั่วโมง
กระดาษ พลาสติก 48-96 ชั่วโมง
เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว จะเห็นได้ว่าการหยิบจับหรือสัมผัสซิ่งของต่าง ๆ นั้นเสี่ยงต่อการติดเชื้อมาก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนกระดาษ ซึ่งนั่นก็คือ ธนบัตร ที่ใช้เป็นเงินสดในการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ เพราะเราไม่รู้เลยว่าบนธนบัตรหรือแบงก์ที่เราหยิบจับนั้น ก่อนหน้าที่จะมาถึงมือเรามันผ่านมือใครมาบ้าง บอกได้เลยว่าผ่านมานับไม่ถ้วนครับ สมมุติถ้ามีคนติดเชื้อ 1 คนหยิบธนบัตรออกไปซื้อของที่ตลาด ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีสารคัดหลั่งไม่ว่าจะเป็น น้ำมูก น้ำลาย น้ำตา ปะปนมากับธนบัตรแน่นอน และหลังจากซื้อของและจ่ายเงินให้กับร้านค้าไปแล้ว ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าที่รับเงินเสี่ยงที่จะติดเชื้อสูงมาก ๆ (ควรล้างมือหรือฉีดแอลกอฮอล์ทุกครั้งที่รับเงินจากลูกค้า)
เงินของคนติดเชื้อจะถูกส่งต่อไปยังคนอื่น ๆ ภายในระยะ 48-96 ชั่วโมง ทางร้านค้านั้น ๆ ต้องมีการทอนเงินให้กับลูกค้าคนอื่น ๆ แน่นอนว่าเมื่อเรารับเงินทอนจากพ่อค้าแม่ค้าเราก็ต้องนำเงินเก็บเข้ากระเป๋ากางเกงหรือกระเป๋าสตางค์ ถึงแม้ว่าเราจะมีการป้องกันอย่างดีด้วยการฉีดแอลกอฮอล์ทุกครั้งที่รับเงิน แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะปลอดภัยจากการติดเชื้อ เพราะว่าเราเก็บเอาธนบัตรที่ปนสารคัดหลั่งมาไว้กับตัวและนำเอาเข้าบ้านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถ้าหากเราเผลอไปหยิบจับธนบัตรใบนั้นขึ้นมาอีก ก็เสี่ยงที่จะติดเชื้อได้อีกเช่นกัน ซึ่งเราอาจจะใช้วิธีฉีดแอลกอฮอล์บนธนบัตรทุกใบที่รับมาจากผู้อื่น (ควรทำอย่างระมัดระวังเพราะอาจจะทำให้ธนบัตรฉีกขาดหรือชำรุดได้) ถึงแม้ว่ามันจะเป็นวิธีที่ช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ก็ตาม แต่ก็ยังมีวิธีอื่น ๆ ที่ช่วยป้องกันและหลีกเลี่ยงจากการสัมผัสเช่น การจ่ายด้วย e-Wallet, พร้อมเพย์, Mobile Banking, บัตรเครดิต, บัตรสมาชิก และอื่น ๆ แทนการใช้เงินสดครับ
สแกนจ่าย แทนเงินสด ลดการสัมผัส ปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโควิด 19
ในปัจจุบัน e-Payment มีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากมาย ทำให้การซื้อสินค้าและการจ่ายค่าบริการ มีความสะดวกสบายและรวดเร็ว ไปไหนมาไหนก็ไม่ต้องพกเงินสดเยอะ ๆ ช่วยให้การดำเนินชีวิตคล่องตัวและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจ่ายเงินด้วยแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือในการทำธุรกรรมการเงินต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการ สแกนจ่ายเงินค่าสินค้าและบริการหรือโอนเงินให้กับผู้อื่น เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่นที่ทางสถาบันการเงินหรือห้างร้านบริษัทเอกชนทำออกมาเพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า
ในขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (covid-19) นับวันยิ่งรุนแรงมากขึ้น (ขณะเขียนบทความ เดือนพฤษภาคม 2564) หากเรามีวิธีอะไรที่ป้องกันได้หรือถ้าเลี่ยงได้ก็ทำเถอะครับ เพื่อตัวเราและคนในครอบครับของเรา หากจำเป็นต้องออกไปทำธุระข้างนอกบ้านหรือจำเป็นต้องทำธุรกรรมทางการเงิน ก็ควรทำธุรกรรมออนไลน์แทนการออกไปยังสาขาหรือพื้นที่เสี่ยงใด ๆ หรือหากเราต้องออกไปจับจ่ายใช้สอยซื้อของในตลาดมาประกอบอาหาร ก็ควรจ่ายเงินด้วย e-Wallet, Mobile Banking, พร้อมเพย์ แทนการใช้เงินสดครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ปริมาณเชื้อโควิด-19 ที่มากับสารคัดหลั่ง