ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้อนุญาตให้ธนาคารไทยพาณิชย์ และ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เริ่มทดสอบการใช้ Retail CBDC หรือ เงินบาทดิจิทัล สำหรับประชาชนแล้ว โดยจะเริ่มการทดสอบในระหว่างเดือน มิถุนายน ถึง เดือนสิงหาคม 2566 และนอกจากธนาคารพาณิชย์ทั้งสองแห่งแล้วยังมี บริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้รับอนุญาตอีกรายหนึ่งด้วย
สำหรับการใช้จ่ายเงินบาทดิจิทัล หรือ Retail CBDC นั้น ในช่วงแรกของการทดสอบนั้นจะอยู่ในวงจำกัดหรือเป็นการกำหนดกลุ่มผู้ทดสอบ ซึ่งธนาคารจะให้ผู้เข้าร่วมทดสอบใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน Wallet CBDC โดยชื่อแอปที่ใช้ในช่วงทดสอบครั้งนี้ ทางธนาคารไทยพาณิชย์ใช้ชื่อ “CBDC SCB Wallet” ส่วนทางธนาคารกรุงศรีอยุธยาใช้ชื่อ “CBDC Krungsri”
นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด กล่าวว่า กรุงศรีได้เริ่มทดสอบการใช้ Retail CBDC ตั้งแต่ต้นเดือน มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ในพื้นที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สำนักงานพระราม 3 และอยู่ระหว่างขยายการใช้งานไปยังสาขาเพลินจิต โดยปัจจุบันมีพนักงานประมาน 2,000 คน และร้านค้าประมาณ 100 ร้านค้า เข้าร่วมการทดสอบ
“การใช้ Retail CBDC ยังอยู่ในขั้นตอนของการทดสอบ เราจึงใช้แอป CBDC Krungsri แยกออกมาเพื่อไม่ให้ผู้ใช้เกิดความสับสน โดยในการทดสอบตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมายังไม่พบปัญหาจาการใช้งาน และในระยะต่อไปอาจนำกระเป๋าเงิน CBDC เข้าไปรวมไว้แอปพลิเคชั่น KMA ” นายแซม กล่าว
ขั้นตอนการใช้งาน แอปพลิเคชัน “CBDC Krungsri” เพื่อใช้ในการทดสอบ
1. ผูกบัญชีธนาคารไว้กับแอปพลิเคชันเพื่อให้สามารถแปลงเงินบาทเป็น CBDC หรือเงินบาทดิจิทัล ( 1 บาท มีค่าเท่ากับ 1 CBDC )
2. จากนั้นเข้าไปที่แอปพลิเคชันแล้วแปลงเงินบาทจากบัญชีที่ผูกไว้เป็นเงินดิจิทัลในจำนวนที่ต้องการ
3. เลือกสแกนจ่าย และนำไปสแกน QR Code ของทางร้านค้าที่เข้าร่วมการทดสอบ ( QR Code ที่ใช้สำหรับ Retail CBDC เท่านั้น )
โดยการทดสอบใช้ Retail CBDC ในครั้งนี้เพื่อต้องการทดสอบความเสถียรของระบบเช่น การรองรับการทำธุรกรรมปริมาณมาก การแลกเงินกลับจากบาทดิจิทัลเป็นเงินบาทปกติ โดยหลังจากเสร็จสิ้นการทดสอบธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะรายงานผลไปยัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต่อไป
อย่างไรก็ดีหากภายหลังจากการเปิดให้ประชาชนได้ใช้ Retail CBDC อย่างเป็นทางการแล้ว อาจจะต้องมีการให้ความรู้แก่ประชาชนและร้านค้า รวมถึงต้องสร้างแรงจูงใจเพื่อให้ประชาชนหันมาใช้ Retail CBDC กันมากขึ้นเช่น การให้ส่วนลดหรือการให้เงินคืน
ทั้งนี้แม้ว่าการใช้ Retail CBDC จะอาจมีความคล้ายกับการใช้จ่ายผ่านพร้อมเพย์ แต่การใช้ Retail CBDC มีประโยชน์ที่ต่างไปจากพร้อมเพย์เช่น
– การทำรัฐสวัสดิการ หากใช้ Retail CBDC จะทำให้สามารถจำกัดการใช้จ่ายให้ตรงตามวัตถุประสงค์ได้เช่น การให้สวัสดิการแก่นักเรียนสามารถจำกัดการใช้งานได้ว่า Retail CBDC ที่ได้ไปต้องใช้จ่ายในร้านที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเท่านั้น ไม่สามารถจ่ายกับร้านค้าอื่น ๆ ได้
– ในการให้สินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์ของสถาบันการเงินจะสามารถควบคุมได้ จากเดิมที่ปัจจุบันเมื่อลูกค้าได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้วสถาบันการเงิน อาจจะไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ขอสินเชื่อได้นำไปใช้ตามวัตถุประสงค์หรือไม่ แต่หากใช้ Retail CBDC จะทำให้สามารถควบคุมได้เช่น ผู้ขอสินเชื่อจะใช้ Retail CBDC ได้เฉพาะกับร้านที่เกี่ยวข้องเช่น ร้านอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน เท่านั้น
– ลดต้นทุนการผลิตธนบัตรและเหรียญ ซึ่งการทดสอบการใช้ Retail CBDC ในครั้งนี้ เรียกได้ว่าเป็นอีกก้าวสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีระบบการชำระเงินแบบ e-Payment เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งช่องทาง นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น สังคมไร้เงินสด Cashless Society ได้เร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย
ท้ายนี้ การใช้ Retail CBDC เรียกได้ว่าเป็นมิติใหม่แห่งการเงินยุคดิจิทัล ที่ช่วยให้การใช้จ่ายของประชาชนสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานระบบชำระเงินใหม่ที่เข้าถึงง่าย มีความปลอดภัยสูง และสามารถรองรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ นอกจากประโยชน์ที่ภาคประชาชนจะได้รับแล้ว ยังเอื้อให้ภาคธุรกิจสามารถต่อยอด และพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อเตรียมพร้อมในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคตอีกด้วยครับ